หน้าเว็บ

ปัญหาการใช้งานช้างเลี้ยงอย่างไม่เหมาะสม


การใช้ช้างประกอบธุรกิจทำไม้ผิดกฎหมาย ช้างที่ถูกนำมาใช้ในธุรกิจที่ผิดกฎหมายนี้มักพบปัญหาต่างๆ ดังนี้ 



         ช้างถูกทารุณกรรม เช่น การบังคับให้ทำงานหนัก การใช้ไฟเผาก้นช้างเพื่อกระตุ้นให้ช้างลากซุง การลงโทษช้างอย่างรุนแรง ช้างเหล่านี้ไม่ได้รับการพักผ่อน สุขภาพทรุดโทรม มีบาดแผลติดเชื้อ บางเชือกอาจมีปัญหาที่ตา น้ำตาไหลมาก หรือตาบอด
         - การให้ช้างกินยาแอมเฟตามีน หรือยาบ้า โดยการผสมในอาหารของช้าง เพื่อให้ช้างทำงานได้มากขึ้น เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ช้างก็เกิดอาการติดยา เมื่อไม่ได้รับยาจะมีอาการอาเจียน เบื่ออาหาร ง่วงซึม ไม่มีแรง และเกิดปัญหาที่ตับและไต ทำให้ช้างเสียชีวิตในที่สุด
         - การใช้ช้างตกมัน หรือช้างดุร้ายที่เคยฆ่าคนทำงาน เนื่องจากช้างตกมันจะมีกำลังมากกว่าปกติ ส่วนช้างที่เคยฆ่าคน ควาญช้างมักหนีการจับกุม หรือถูกช้างฆ่าตายไปแล้ว ราคาจะถูก ช้างกลุ่มนี้อาจฆ่าคนได้อีก ซึ่งมักใช้การแก้ปัญหาโดยการยิงทิ้ง


      การใช้ช้างเดินเร่ร่อนในเมืองใหญ่ จากการปิดชายแดนไทย-กัมพูชา รายได้ของชาวกูยลดลง ประกอบกับภาวะการว่างงานในฤดูแล้ง แต่ยังมีภาระในการเลี้ยงดูช้างและครอบครัว จึงเริ่มมีการนำช้างเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อให้บริการลอดท้องช้าง ขายอาหารช้าง และรับบริจาคจากบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ทางกรุงเทพมหานครประกาศห้ามมิให้ช้างเหล่านี้เดินหารายได้ในเขตกรุงเทพฯ โดยการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน คือ ปรับไม่เกิน 500 บาท กลุ่มช้างเร่ร่อนจึงพากันเปลี่ยนไปหากินในพื้นที่ปริมณฑลรอบๆกรุงเทพฯและตามจังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดปัญหากับช้าง คือ
         - อุบัติเหตุ ช้างถูกรถชน เนื่องจากผู้ขับขี่ยานพาหนะมองไม่เห็นช้างที่มักสัญจรบนท้องถนนในช่วงเวลากลางคืน หรือช้างตกท่อ เนื่องจากฝาท่อรับน้ำหนักของช้างไม่ไหว
         - มลพิษในเมือง มลพิษจากฝุ่นโลหะหนักในอากาศ อาจเกิดความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจของช้าง แสงจ้าและฝุ่นที่อบอวลอาจระคายเคืองตาซึ่งอาจเกิดแผลที่กระจกตา เกิดอาการติดเชื้อจนทำให้ช้างตาบอดได้ ส่วนมลพิษทางเสียงอาจทำให้ช้างตกใจวิ่งเตลิดไป ทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าช้างตกมันและต้องจบชีวิตลงด้วยการวิสามัญฆาตกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น