หน้าเว็บ

การจับช้างในประเทศไทย

           มนุษย์รู้จักจับช้างมาแล้วแต่อดีตหลายพันปีรู้จักใช้ช้างทั้งเป็นพาหนะและยุทธปัจจัยในการทำสงครามมาแล้วกว่า 3,000 ปี เท่าที่ศึกษาจากเอกสารชาวเอเชียใกล้และเอเชียกลางนิยมจับช้างป่าโดยวิธีทำหลุมพราง(Trapping)  โดยขุดเป็นหลุมกว้างพอดีกลับตัวช้าง ลึกประมาณ 4 ศอก กลบด้วยใบไม้หรือหญ้า ทำเลที่จะเลือกขุดหลุมพรางคือเส้นทางที่โขลงช้างป่าออกหากิน เมื่อมีช้างตัวใดตัวหนึ่งตกลงไปในหลุม บรรดาพรานที่ซุ่มดูอย่างห่าง ๆ ก็จะส่งเสียงดังหรือก่อไฟ เพื่อขับไล่โขลงช้างป่าให้หนีไป ช้างที่ตกลงไปในหลุมพรางจะถูกทรมานโดยการให้ยืนแกร่วอยู่ในหลุมเป็นเวลาหลายวัน เพื่อให้อ่อนล้าและหิวโหย เมื่อเห็นว่าช้างมีอาการอ่อนเพลียและละพยศแล้ว พรานจะเริ่มให้น้ำและอาหาร ทำให้ช้างค่อย ๆ เชื่องและไว้ใจขึ้นตามลำดับ เล่ากันว่าบางเชือกต้องทรมานอยู่ในหลุมถึง 2เดือน กว่าจะเอาอยู่หลังจากมั่นใจว่าช้างหมดพยศแล้ว พรานจะนำปลอกมาสวมรัดเท้าหน้าทั้งสองติดกัน ปลอกดังกล่าวส่วนใหญ่ฝั้นเป็นเกลียวด้วยหวาย แล้วจึงขุดดินเป็นแนวลาดถึงก้นหลุมเพื่อนำช้างขึ้น
           การทำหลุมพรางดักช้างเป็นวิธีที่ง่าย มีความปลอดภัย แต่ก็มีผลเสียตรงที่ไม่สามารถเลือกจับช้างตัวที่ต้องการได้ มีบ่อยครั้งที่ต้องปล่อยคืนป่า เพราะไม่สมประกอบ รูปร่างไม่ได้สัดส่วน และมีอยู่บ่อยที่เดียวที่หลุมพรางบางหลุมกลายเป็นหลุมฝังช้างไป  จากการทำหลุมพราง มนุษย์ได้พัฒนาเทคนิคการจับช้างขึ้นมาหลายรูปแบบ อาทิ การต้อนลงซอกหรือลำน้ำแคบ ๆ การไล่ต้อนเข้าคอกชายป่าหรือการต้อนช้างทั้งโขลงหรือหลาย ๆ โขลงจากป่าเข้าเพนียดที่ชานเมือง
           ในฐานะประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีช้างอาศัยอยู่ในป่าลึกหลายส่วนของประเทศ อินเดียคือแหล่งให้กำเนิดศาสตร์ว่าด้วยการดูรูปพรรณช้างการจับ ฝึกและใช้แรงช้างเป็นชาติแรก พร้อมกันนั้นก็ได้นำตำนาน “ คชศาศตร์ ” ออกเผยแพร่ในหมู่ประเทศเอเชียอาคะเนย์อย่างกว้างขวาง
          การจับช้างในราชสำนักสยาม
           อดีตไทยเป็นชาติหนึ่งที่มีช้างป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้ง “ โขลงเชื่อง ” คือโขลงช้างป่าที่หากินอยู่ตามชายดง หรือชายทุ่ง ตามบริเวณทุ่งหญ้าใกล้แหล่งชุมชนและ “ โขลงเถื่อน ” ที่อยู่และหากินบนเขาหรือป่าโปร่ง สลับดงดิบ ห่างไกลจากผู้คนสัญจรโขลงทั้งสองต่างมีระบบ “ ปก ” คล้าย ๆ กัน คือแต่ละโขลงจะมีหัวหน้าหรือจ่าโขลงทำหน้าที่ควบคุมคอยระแวดระวังภัย จ่าโขลงแถบทั้งหมดจะเป็นช้างพังขนาดใหญ่ เนื่องจากมีสัญชาตญาณหวงลูกเป็นพันธนาการ ในแต่ละโขลงอาจมีแม่พังหลายแม่ มีลูกหลายคอกอยู่รวมกัน แต่ก็จะมีแม่พังตัวหนึ่งรับหน้าที่เป็นจ่า เป็นช้างฉลาด มีสำเนียกระวังภัยสูงขณะเดียวกันก็ชำนาญในภูมิประเทศ รู้แหล่งอาหารแหล่งน้ำ แหล่งหลบซ่อนพักผ่อนเป็นอย่างดี  ขณะออกสะกดลอย ครูและควาญต้องเรียนรู้ระบบโขลง รู้แหล่งอยู่อาศัย แหล่งหากิน เวลาออกหากิน  ตลอดจนอุปนิสัยพื้น ๆ ของช้างแต่ละโขลงต้องตระเตรียมด้านกำลังคน สะเบียงกรัง และเครื่องมือจับให้พร้อม
             การตระเตรียมกำลังคน
             เริ่มตั้งแต่การจัดอัตรากำลัง ช้างต่อ 1 เชือกใช้คนอย่างน้อยที่สุด 2 คน คือท้ายช้าง 1 คน หมอหรือควาญ 1 คน ท้ายช้างมีหน้าที่คอยช่วยเหลือหมอหรือควาญ เช่น คอยหยิบเครื่องมือต่าง  ยื่นให้ ถ้าเป็นกรณีแทรกโพน ท้ายช้างมีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่งคือ เป็นผู้ลงจากช้างเป็นคนแรก เพื่อนำทามคอไปผูกล่ามช้างเชลยติดกับต้นไม้ และแก้หรือปลดหนังปะกำออกจากเท้าช้าง ฟังดูก็ออกจะเป็นการเสี่ยงภัยไม่น้อย แต่แท้ที่จริง หมอหรือควาญจะสั่งให้ท้ายช้างลงจากช้าง และกระทำการดังกล่าวก็ต่อเมื่อเห็นอาการอ่อนล้า สิ้นพยศของช้างป่าแล้วเท่านั้น แม้แต่ขณะที่ท้ายช้างลงจากท้ายช้างต่อหมอหรือควาญก็ยังทำการบังคับช้างเชลยอยู่อย่างใกล้ชิด ทั้งโดยสั่งให้ช้างต่อลงโทษ และการผูกรัดกระชับแน่น การจับช้างป่า 1 ตัว ไม่ได้ใช้ช้างต่อเพียง 1 เชือก บางครั้งต้องใช้หนังปะกำคล้องถึง 4 เส้น ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องใช้ช้างต่อถึง 4 เชือก หมอหรือควาญถึง 4 คน เพราะช้างต่อ 1 เชือก จะมีอุปกรณ์คล้องเพียง 1 สำรับเท่านั้น
             ตำแหน่งอัตรากำลังคนที่มีความสำคัญถัดท้ายช้างขึ้นมาคือ ควาญซ้ายและควาญขวาตามลำดับควาญซ้ายจะอ่อนกว่าควาญขวาทั้งด้านประสบการณ์และอาวุโส กล่าวคือ หลังจากเคยทำหน้าที่ท้ายช้างมาระยะหนึ่ง เคยออกจับช้างและมีความชำนาญบ้างแล้วก็จะได้รับเลื่อนหรือมอบให้เป็นควาญซ้ายหลังจากนั้น ถ้าสามารถจับช้างป่าได้ประมาณ 5 ตัว ก็จะได้เลื่อนเป็นควาญขวา เว้นแต่จับได้ช้างสำคัญ เช่น ช้างเผือกหรือช้างเนียมเพียงช้างเดียวก็อาจเลื่อนยศเป็นควาญขวาได้
             ในทางปฏิบัติ การจัดว่างอัตรากำลังเป็นควาญซ้าย ควาญขวาหรือครูบานั้น ใช้ปกครองบังคับบัญชาเฉพาะขณะเดินทางหรือที่ค่ายพัก เมื่อออกทำการจับ แต่ละฝ่ายจะปฏิบัติการอย่างอิสระ
             บุคคลสำคัญผู้มีหน้าที่จัดและมอบหมายหน้าที่การปกครองและให้ความเป็นธรรมด้านผลประโยชน์ของทีมคือหมอใหญ่หรือครูบา ในการออกจับช้างแต่ละครั้งหมอช้างจะทำหน้าที่ควาญหน้า บังคับช้างต่อเข้าด้านหน้าหรือตรงกลาง เมื่อช้างป่าหลบหนีออกไปทางขวาหรือซ้ายจึงจะเป็นหน้าที่ของควาญขวาหรือควาญซ้ายแต่ก็มีบ่อยครั้งที่หมอช้างจะปล่อยให้ควาญทั้งสองคนกับคณะออกทำการจับตามลำพัง
             บุคคลอีกทางหนึ่ง ถึงจะไม่ได้ออกไปจับช้างด้วย แต่ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อคณะผู้ออกจับ คือ ปฏิยาย เป็นผู้มีกฤตาคมแก่กล้า เป็นผู้นำในพิธีกรรมสำคัญ ๆ รอบรู้ในกฤษ์ยามที่เป็นอุตมะก่อนจะเคลื่อนกำลังออกจากที่ตั้ง ปฏิยายไม่มีอยู่ในทำเนียบ คชกรรมของสุรินทร์
            ศักดิ์ในหมู่ชาวช้างเหล่านี้มีความหมายและความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมัน ถึงเจ้าตัวจะมีคุณสมบัติครบถ้วนก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการเลื่อนขั้นยศทันทีต้องได้รับการสถาปนาก่อน พิธีเลื่อนขั้นยศดังกล่าว เรียกว่า “ การยกครู” กระทำโดยปฏิยายใหญ่หรือปฏิยายทวด แทบทุกครั้งที่จะมีการออกจับช้างจะต้องมีการทบทวนหรือ ตรวจสอบ การทบทวนหรือตรวจสอบขั้นยศเป็นส่วนหนึ่งของพิธีอยู่กรรมหรือเข้ากรรมคล้ายถือบวช ทุกคนจะต้องเปิดเผยคือแนะนำตนเองต่อหน้าเพื่อร่วมชตากรรม ทุกสิ่งจะต้องบริสุทธิ์สะอาด เพียงแต่สงสัยก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมออกจับช้าง
            ระหว่างเข้าหรืออยู่กรรม ผู้ใดละเมิดข้อห้ามเรียกว่า “ กรรมแตก ” ชาวช้างถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่จะไม่ให้กรรมแตกก่อนออกเดินทาง และให้ถือว่าผู้ทำกรรมแตกขาดคุณสมบัติสำคัญ หมดสิทธิ์ออกร่วมเดินทาง ส่วนข้อห้ามนั้นขอยกไปนำเสนอพร้อม  กับ “ ข้อคะลำ ” ในคชกรรมพื้นบ้านสุรินทร์
            ระหว่างเข้ากรรมเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ปฏิยายหรือปฏิายทวดจะกระทำพิธีขอสุบินต่อครูปฏิยาย คือเชิญครูปฏิยายมาเข้าฝัน เป็นการเสี่ยงทาย หรือทำนายด้วยนิมิตที่เห็นในฝัน
            เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมแล้ว ทุกคนก็จะเข้ากราบลาปฏิยายทวดหรือครูเฒ่า หรือเชิญครูเฒ่าออกร่วมเดินทาง ครูเฒ่าจะทำพิธีจับยามหากฤษ์และทิศออกเดินทาง
สะเบียงกรังส่วนใหญ่เป็นข้าวสาร พริก เกลือ กะปิ น้ำปลา ส่วนของสด เครื่องแกง เครื่องปรุงอื่น ๆ ไปหาเอาในป่า  
             อุปกรณ์หลักที่ขาดเสียมิได้ก็เช่นกันคล้ายคลึงกับเครื่องมือจับช้างทางสุรินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น